ถ้าพูดถึงกระแสที่ร้อนแรงที่สุดทั่วโลกตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘Metaverse’ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกจากโซเชียลเน็ตเวิร์กอันดับ 1 ของโลกอย่าง Facebook ที่ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัท พร้อมกับแนวทางการดำเนินธุรกิจเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งนอกจาก Facebook แล้ว หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ก็เริ่มทยอยออกมาประกาศถึงการเข้าสู่ธุรกิจ Metaverse ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Microsoft, Nike หรือแม้กระทั่งแอปฯ หาคู่ชื่อดังอย่าง Tinder
Metaverse คือแนวคิดในการสร้างสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน จนกลายเป็น ‘ชุมชนโลกเสมือนจริง’ ที่สามารถผสานวัตถุรอบตัวและสภาพแวดล้อมให้เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว ทำให้เหมือนว่าได้ออกไปใช้ชีวิต มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก สร้างกิจกรรมร่วมกัน เช่น ออกกำลังกาย รับชมคอนเสิร์ต ประชุมทางไกล และเหมือนเรากำลังอยู่ในสถานที่นั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเรากำลังทำกิจกรรมทั้งหมดอยู่ภายในบ้านของตัวเอง
ในความเป็นจริงแล้ว Metaverse ไม่ได้เพิ่งจะกำเนิดขึ้น แต่มีจุดเริ่มต้นมาจากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง‘Snow Crash’ ของ นีล สตีเฟนสัน ในปี 1992 ที่เล่าเรื่องราวของโลกในยุคอนาคตที่มนุษย์และคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกันผ่านเทคโนโลยีในโลกเสมือนจริง ซึ่งถือว่าล้ำสมัยเกินจินตนาการของคนในยุคนั้น
นอกจากนี้ยังมีภาพยนต์อย่าง Ready Player One ที่ออกฉายในปี 2018 ที่ทำให้เราเริ่มเห็นภาพในจินตนาการของ Metaverse ได้ชัดเจนขึ้น และอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่เปรียบเสมือนเป็นปัจจัยเร่งสำหรับแนวคิด Metaverse ในการนำมาใช้ในโลกความเป็นจริงได้เร็วขึ้น คือการระบาดของโควิดที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ไม่มีโอกาสได้ออกไปใช้ชีวิต เดินทาง ทำงาน ผจญภัย ซึ่งแนวคิดของMetaverse สามารถเข้ามาเติมเต็มได้อย่างพอดี
สำหรับเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) เป็น 2 เทคโนโลยีหลักในปัจจุบันที่จะเข้ามาช่วยในการเชื่อมโยงผ่านอินเทอร์เน็ตระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน หากลองยกตัวอย่างที่ทุกคนอาจจะพอนึกออกและเคยเห็นมาบ้าง เช่น เครื่องเพลย์สเตชันที่ผู้เล่นที่ใส่แว่น VR เป็นอุปกรณ์เสริม สามารถเห็นคอนเทนต์รอบทิศทาง 360 องศา หรือตัวอย่างของ AR จากเกม Pokémon GO ที่เคยได้รับความนิยมเมื่อ 4-5 ปีก่อน
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของการสร้างสังคมในโลกเสมือน อย่างเช่น Decentraland ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถซื้อที่ดินในโลกดิจิทัลด้วยเหรียญคริปโตฯ ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อใช้จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น งานแสดงดนตรี ขายโฆษณา หรือขายงานศิลปะ NFT เป็นต้น ซึ่งหากมองประโยชน์ของ Metaverse ที่จะมีโอกาสถูกพัฒนาและนำไปใช้ในชีวิตจริงน่าจะมีในอีกหลายๆ ด้าน เช่น ด้านการแพทย์ (ผ่าตัดทางไกล), ด้านวิศวกรรม (ใช้อุปกรณ์ช่วยในการปฏิบัติงานในพื้นที่อันตราย), การค้าขาย (ทดลองสินค้าผ่าน AR), ด้านบันเทิง (เกม, คอนเสิร์ต) เป็นต้น
ในส่วนของการลงทุนเองนั้น จากกระแสที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้ทำให้บริษัทหรือหุ้นที่กำลังพัฒนาMetaverse หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับความสนใจเป็นอย่างมากตามด้วย โดยปัจจุบันมีการจัดทำดัชนีที่ชื่อว่า ‘The Ball Metaverse Index’ ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นของ 41 บริษัทชั้นนำทั่วโลกที่มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค Metaverse เช่น Meta Platform (Facebook), Microsoft, NVIDIA, Sea, Amazon, Apple ที่อยู่ในตลาดสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งบริษัทอย่าง Tencent ที่อยู่ในฮ่องกง, Sony ของญี่ปุ่น และ Samsung ของเกาหลี
นอกจากนี้ยังมี ‘The Roundhill Ball Metaverse ETF’ (META) ที่เป็นกองทุน ETF ในตลาดสหรัฐฯ ที่เปิดโอกาสนักลงทุนที่สนใจการลงทุนในธีมนี้สามารถซื้อกองทุนเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่ล้อไปกับหุ้นที่อยู่ในดัชนี The Ball Metaverse Index อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ว่าเรายังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้แข่งกับบริษัทระดับโลกได้ แต่เชื่อว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นผู้นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้อย่างแน่นอน โดยองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการท่องโลก Metaverse คือ
~ อินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องมีความเร็วสูงเพื่อตอบสนองได้ทันทีและต่อเนื่อง ซึ่งผู้ให้บริการทั้งมือถือและบอร์ดแบรนด์ในบ้านเราคงต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นบริษัทที่ทำธุรกิจ Internet Provider, Data Center, System Integrator, Software Engineering เหล่านี้น่าจะได้ประโยชน์จากความต้องการใช้ข้อมูลที่สูงขึ้น
~ อุปกรณ์ (Device) เช่น แว่น ถุงมือ VR AR, Smart Watch หรือแกดเจ็ตใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งคาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการเป็นผู้ผลิตส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของอุปกรณ์เหล่านี้ที่จะมีความต้องการสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค
เครดิต :
สุทธินีย์ ลิมปพัทธ์
Executive Director กลุ่มจัดการลงทุนตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด