Kahoot!: คืออะไร มีไว้เพื่ออะไร และทำงานอย่างไร

Kahoot (คาฮูท) โปรแกรมชื่อดัง นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมือประกอบการสอน หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กร เนื่องจากสามารถสร้างแบบทดสอบ คำถาม การสำรวจความเห็น สร้างอีเวนต์ การอบรม และอื่นๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ง่ายๆ

รู้จัก "Kahoot" คืออะไร

โปรแกรม Kahoot คือ โปรแกรมที่ให้บริการการสร้างแบบทดสอบ คำถาม การประเมิน การสำรวจความเห็น และอื่นๆ ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน Kahoot สามารถใช้งานได้ทั้งแบบฟรี และแบบมีค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ที่ต้องการอัปเกรดบัญชีแบบพรีเมียม เพื่อเข้าถึงฟังก์ชั่นพิเศษเพิ่มเติม 

ปัจจุบัน Kahoot เปิดให้บริการ 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ By teachers and students, By office superheroes และ By families and friends โดยสามารถเลือกใช้งานได้ตามความต้องการ

ประโยชน์ของ Kahoot มีอะไรบ้าง

ไทยรัฐออนไลน์สรุปข้อมูล Kahoot ข้อดี ข้อเสีย มาฝาก ดังนี้

ข้อดี

...

  • เพิ่มความสะดวกสบายในการทำข้อสอบ สำรวจความเห็น หรือการตอบคำถามต่างๆ เนื่องจากสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้
  • ลดการใช้กระดาษ ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางและภาวะโลกร้อนได้
  • เพิ่มความสนุกสนานและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน
  • ปรับคำถามหรือข้อความได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องทำข้อสอบใหม่ทั้งหมด
  • สามารถร่วมเล่นเกมด้วยกันได้ แม้ว่าจะอยู่คนละพื้นที่
  • สามารถใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ก หรือโทรศัพท์มือถือก็ได้เช่นกัน

ข้อเสีย

  • หากอยู่ในพื้นที่ที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง หรือมีปัญหาเรื่องสัญญาณ อาจส่งผลต่อการใช้งานได้
  • หากไม่ได้ใช้บัญชีในรูปแบบของบัญชีครู จะจำกัดผู้เข้าร่วมทำแบบทดสอบได้ไม่เกิน 10 คนเท่านั้น

วิธีสร้าง Kahoot ทำอย่างไร

หากต้องการเล่น Kahoot สามารถทำตามได้ง่ายๆ ดังนี้

กรณีเป็นผู้สร้างเกม

1. คลิกเว็บไซต์ Kahoot เข้าใช้งาน (Log In) หากมีบัญชีอยู่แล้ว ส่วนใครยังไม่มีบัญชีให้กดลงทะเบียน (Sign Up)
2. ในขั้นตอนของการลงทะเบียน ระบบจะให้เลือกรูปแบบบัญชี ดังนี้ Teacher, Student, Personal และ Professional กรอกข้อมูลให้ครบถ้วนตามลำดับ
3. ระบบจะให้เลือกแพ็กเกจการใช้งาน ราคาต่างกันตามฟีเจอร์และรูปแบบบัญชี ทั้งนี้ หากต้องการใช้งานฟรี ให้กด “Continue for free” ด้านล่าง
4. กดเลือก “Create a new kahoot” เลือกสร้างเทมเพลตเอง หรือจะใช้เทมเพลตที่มีอยู่แล้วก็ได้
5. เพิ่มคำถาม รูปภาพ ตัวเลือกคำตอบ สร้างโพล สไลด์ ธีม หรือตั้งเวลาในการตอบคำถาม ได้ตามต้องการ
6. เมื่อสร้าง Kahoot เรียบร้อย ให้กด “Save” ระบบจะบันทึกไว้ที่ช่อง “My kahoots”
7. หากต้องการเข้าเล่น ให้คลิกไปที่ Kahoot นั้นๆ กด “Start” ระบบจะพาเข้าสู่หน้าหลัก สร้าง Game PIN สำหรับเข้าร่วมเล่น
8. หากผู้เล่นเข้าร่วมครบแล้ว สามารถกดปุ่ม “Start” ได้ทันที

กรณีเป็นผู้เล่น

1. กดเข้า Kahoot Join กรอก Game PIN จากผู้สร้าง หรือสแกน QR Qode จากหน้าจอผู้สร้างได้ทันที
2. กรอกชื่อของตนเอง และกดเข้าร่วม ระบบจะพาเข้าสู่หน้าหลัก เพื่อรอเล่นเกม
3. ผู้เล่นจะต้องดูคำถามจากหน้าจอของผู้สร้างเกม และกดเลือกคำตอบที่ถูกต้องผ่านหน้าจอของตนเอง

การคิดคะแนนของ Kahoot คิดอย่างไร

การตอบคิดคะแนนคำตอบของ Kahoot จะคิดจากความถูกต้องและความเร็วในการตอบคำถาม หากตอบได้ถูกต้องภายในเวลาอันรวดเร็ว ระบบจะคำนวณจากคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน เมื่อจบคำถาม 1 ข้อ ระบบจะแสดงชื่อ 5 อันดับผู้เล่นมีคะแนนสูงสุด และเมื่อทำครบทุกข้อแล้ว ระบบจะแสดงชื่อ 3 เล่นที่คะแนนสูงสุด แต่สามารถดูผลคะแนนสรุปของผู้เล่นอื่นๆ ในภายหลังได้เช่นกัน

4 แอปพลิเคชันและโปรแกรมเกี่ยวกับการเรียน

นอกจาก Kahoot ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันและโปรแกรมที่มีลักษณะคล้ายกัน ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ดังนี้

...

  • Quizizz คือ เว็บไซต์สร้างแบบทดสอบออนไลน์ มีรูปแบบการใช้งานสำหรับโรงเรียนและการทำงาน ข้อดีคือ มีภาษาไทย ทำให้ใช้งานได้ง่าย
  • Classdojo คือ เว็บไซต์สำหรับการบริหารจัดการห้องเรียนแบบออนไลน์ เช่น การรายงานผลคะแนนถึงผู้ปกครอง การวิเคราะห์ผลการเรียน การเช็กชื่อ
  • Plickers คือ แอปพลิคเชันสำหรับสร้างข้อสอบและตรวจคำตอบได้อย่างเรียลไทม์ผ่านระบบออนไลน์ มีทั้งแบบฟรีและเสียค่าใช้จ่าย
  • Live worksheets คือ เว็บไซต์สำหรับสร้างแบบฝึกหัด แบบทดสอบ ใบงานออนไลน์ โดยผู้เรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที โดยไม่ต้องพิมพ์เอกสาร

ปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น Kahoot และแอปพลิเคชันสำหรับการเรียนรู้อื่นๆ จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความสะดวกสบายทั้งผู้สอนและผู้เรียน รวมถึงยังสามารถประเมินผลถึงความเข้าใจหลังการสอนหรือการทำกิจกรรมได้อีกด้วย